วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

การเพาะเลี้ยงกบ บทที่ 1

บทที่ 1
บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เป็นไปเพื่อให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิชาการต่างๆ ของยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งถือว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคน เพื่อให้คนพัฒนาประเทศ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 เน้นการสร้างคนไทยให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขันและร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ในเวทีโลกตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ( 2544, หน้า 1) ที่กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 เพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ตลอดจนการศึกษาต่อ และการให้สถานศึกษาจัดทำสาระหลักสูตรและสาระเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยยึดหลักความมีเอกภาพในด้านนโยบาย และความหลากหลายในการปฏิบัติ ซึ่งหลักสูตรแกนกลางมีโครงสร้างหลักที่ยืดหยุ่น มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้เป็นตัวกำหนด คุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน (2544, หน้า 2) กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) เป็นกลุ่มสาระการเรียนที่ผู้เรียนทุกคนในระดับประถมศึกษาต้องเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ ทั้งนี้เพราะกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) นี้ ว่าด้วยการอยู่ร่วมกันบนโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา มีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกันอย่างหลากหลาย การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทำให้พลเมืองมีความรับผิดชอบ มีความสามารถทางสังคม ความรู้ และเกิดความเจริญงอกงาม
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) จะช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะในการพัฒนาการประกอบอาชีพและสามารถนำความรู้ ทักษะค่านิยมและเจตคติ ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะงานเกษตรที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข (2544, หน้า 1-2)
กระทรงศึกษาธิการได้เสนอแนวทางการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) โดยต้องจัดให้เหมาะสมกับวัย ให้ผู้เรียนมีส่วนในการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาการอาชีพ การจัดการสอนที่มีการบูรณาการ พัฒนาค่านิยม จริยธรรม ท้าทาย และเน้นการปฏิบัติด้วยตนเอง เพื่อให้การเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ (2544, หน้า 31-32)
ดังนั้น ครูผู้สอนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษา ครูผู้สอนจึงต้องรู้จักนำเสนอวิธีการสอน การผลิตสื่อการสอน และการนำเทคนิคการสอนมาจัดเป็นกระบวนการการเรียนการสอนที่หลากหลาย ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ครูต้องจัดเนื้อหา สาระการเรียนรู้และกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ และความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญกับสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้ มาใช้เพื่อป้องกันและการแก้แก้ไขปัญหา ครูควรจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อมและการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน
การจัดการเรียนการสอนสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) ของโรงเรียนหัวนานี้ ปัจจุบันผู้สอนจะเน้นการบรรยายและสอนแบบสาธิตที่มีตัวอย่างแต่ในตำราเรียน เมื่อสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางครั้งครูไม่ค่อยมีตัวอย่างจริงในการนำเข้าสู่บทเรียน บางครั้งก็จะเริ่มดำเนินการสอนเลย เมื่อสอนจบแต่ละเรื่องก็มีการวัดและประเมินผลตามเอกสารในตำราเรียน แต่มีการสอบเพื่อเก็บคะแนนในช่วงกลางภาคเรียนและปลายภาคเรียนบ้าง ในการวัดและประเมินผลแต่ละครั้ง ผู้สอนจะออกข้อสอบตามเนื้อหาสาระและตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง พร้อมทั้งได้สรุปผลการสอบไว้เป็นเรื่องๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการสอนซ่อมเสริมหรือการสอนนักเรียนรุ่นต่อไปว่า ควรจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ จากประสบการณ์การสอนวิชาการงานอาชีพนี้ พบว่า ผลการสอบวิชาการงานอาชีพนักเรียนจะได้คะแนนเฉลี่ยน้อย
จากผลการเรียนดังกล่าวเป็นปัญหาที่ ผู้สอนจะได้วิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ผลการเรียนในการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) บางเรื่องไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งพอสรุปเบื้องต้นได้ว่า อาจเป็นเพราะวิธีการสอนของครู เนื่องจากการสอนที่ใช้อยู่เป็นการสอนโดยเน้นการบรรยายเป็นหลัก(Lecture Method) นักเรียนส่วนหนึ่งฟังแล้วเข้าใจรู้เรื่องดี แต่มีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งฟังแล้วไม่เข้าใจเพราะมาจากครอบครัวชนเผ่า ทั้งๆ ที่ครูผู้สอนพยายามเอาใจใส่นักเรียนที่เรียนอ่อนแล้วแต่เมื่อถึงเวลาประเมินผลการเรียน ผลการประเมินมักจะปรากฏอยู่เสมอว่า คนที่ได้คะแนนสูงก็จะได้คะแนนสูงทุกครั้ง คนที่ได้คะแนนต่ำก็จะได้คะแนนต่ำทุกครั้ง หรืออาจเป็นเพราะยังมีสื่อการสอนไม่เพียงพอหรือมีสื่อที่ยังไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน คือ สื่อที่ปฏิบัติจริงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็ก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความสนใจที่จะหาทางพัฒนานวัตกรรมที่น่าสนใจและเหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน จึงได้ตัดสินใจเลือกบทเรียนส่งเสริมการงานอาชีพเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์มาประยุกต์ใช้เป็นนวัตกรรมประกอบการสอนและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
หนังสือที่เป็นนวัตกรรมส่งเสริมการอ่านประกอบการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) นี้ เป็นบทเรียนที่สร้างขึ้นโดยการ กำหนดเนื้อหา วัตถุประสงค์ วิธีการสอนและสื่อการสอนไว้ล่วงหน้า ทำให้ผู้เรียนสามารถสอนด้วยการปฏิบัติจริง ให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น ตาดู หูฟัง เป็นต้น และประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง บทเรียนที่จัดแบ่งเนื้อหาจากง่ายไปหายาก มีคำถามให้นักเรียนไว้คิดและตอบ นอกจากนี้ยังมี คำชักชวน ติชม และภาพการ์ตูน ภาพกบประกอบเพื่อเป็นการเสริมแรงและทำให้ ผู้เรียนสนุกสนาน เพลิดเพลิน เร้าใจและสนใจไม่เบื่อหน่าย ผู้เรียนมีโอกาสที่จะศึกษาด้วยตนเอง และเป็นการตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ลำดับความยากง่าย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น
ผู้ศึกษาค้นคว้าสร้างนวัตกรรมส่งเสริมการการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) นี้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ครูชำนาญการ โรงเรียนหัวนา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบการสอนในกลุ่มสาระการการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) จึงได้จัดทำนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการการงานอาชีพ ชุด การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้น เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ในการใช้นวัตกรรมดังกล่าว ที่จะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับพัฒนาการของนักเรียนให้มากขึ้น

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพผลการใช้หนังสืออ่านประกอบเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านหัวนา ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
3. เพื่อทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้หนังสืออ่านประกอบเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ขออบเขตของการศึกษา
1. กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนระดับชั้นประถมปีที่ 4 โรงงเรียนบ้านหัวนา ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 จำนวน 39 คน

2. เนื้อหา
เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษา คือ หนังสือประกอบการอ่าน เรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 5 เล่ม ดังนี้
เล่ม 1 เรื่อง ชีวิตของกบน้อย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกบ พันธุ์กบที่จะนำมาเลี้ยง การเลือกสถานที่และสร้างคอกหรือบ่อเลี้ยงกบ
เล่ม 2 เรื่อง กบน้อยเลือกคู่ การเตรียมและการคัดพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์กบนา การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์และการผสมพันธุ์กบ การลำเลียงไข่กบจากบ่อผสมไปบ่ออนุบาลและเปลี่ยนถ่ายน้ำ การคัดขนาดลูกกบ อายุ/อัตราการอนุบาลและการปล่อยเลี้ยง รวมทั้งอาหารและชนิดของอาหาร
เล่ม 3 เรื่อง ครอบครัวสุขสันต์ การเลี้ยงกบในบ่อดิน การเลี้ยงกบในคอก การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ และการเลี้ยงกบในกระชัง
เล่ม 4 เรื่อง กบน้อยไม่สบาย การดูแลรักษากบ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคที่เกิดจาดโปรโตซัวในทางเดินอาหาร โรคท้องบวม และการป้องกันโรคในกบ
เล่ม 5 เรื่อง ไปเที่ยวตลาดกันนะ การจับกบเพื่อจำหน่าย ต้นทุนการเลี้ยงกบ และการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองและครอบครัว
ซึ่งทั้ง 10 เล่ม ประกอบด้วย คู่มือการใช้ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบก่อนและหลังการเรียนรู้

3. สมมติฐาน
1. หนังสือการอ่านประกอบเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 70/70
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยหนังสือการอ่านประกอบสูงกว่าก่อนเรียน

4. ตัวแปรในการศึกษา
ตัวแปรต้น คือ หนังสือการอ่านประกอบเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ตัวแปรตาม คือ
1. ประสิทธิภาพของหนังสือการอ่านประกอบเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ สาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนด้วยหนังสือการอ่านประกอบ

นิยามศัพท์เฉพาะ
หนังสือประกอบการอ่านเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ หมายถึง หนังสือที่ผู้รายงานสร้างขึ้นมาให้อ่านประกอบการสอนกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) ที่มีสีสัน มีเนื้อหา และขั้นตอนวิธีการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ มีจำนวน 5 เล่ม ดังนี้ เล่ม 1 เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกบ เล่ม 2 เรื่อง กบน้อยเลือกคู่ เล่ม 3 เรื่อง ครอบครัวสุขสันต์ เล่ม 4 เรื่อง กบน้อยไม่สบาย และเล่ม 5 เรื่อง ไปเที่ยวตลาดกันนะ
เกณฑ์ประสิทธิภาพของหนังสือประกอบการอ่าน หมายถึง เกณฑ์คุณภาพของหนังสือ ซึ่งนักเรียนเรียนแล้วสามารถปฏิบัติกิจกรรมและตอบคำถามได้มากที่สุด โดยกำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ 70/70 เป็นเกณฑ์ เกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 70/70 หมายถึง ดังนี้
1) 70 ตัวแรก หมายถึง ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั้งหมด ที่ได้จากการทำแบบทดสอบย่อยระหว่างเรียน ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70
2) 70 ตัวหลัง หมายถึง ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนทั้งหมดที่ได้จากการทำแบบทดสอบและวัดผลสัมฤทธิ์หลังการเรียน เรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ ได้คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง แบบฝึกเพื่อทดสอบที่ผู้รายงานสร้างขึ้นเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โดยวัดก่อนเรียนและหลังเรียน
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง คะแนนที่นักเรียนทำได้จากการตอบแบบทดสอบและวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยหนังสือ อ่านประกอบเรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ ที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 70%

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้หนังสืออ่านประกอบสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร)เรื่อง การเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ สำหรับชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 5 เล่ม
2. นักเรียนได้เรียนรู้โดยใช้หนังสืออ่านประกอบในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร) สำหรับชั้นประถมปีที่ 4
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี(งานเกษตร)สูงขึ้น
4. ผลการศึกษาได้ทราบถึงวิธีการสร้างหนังสืออ่านประกอบ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการสร้างหนังสืออ่านประกอบเรื่องอื่นๆ ต่อไป
5. ได้รับข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางสำหรับการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีช่วยให้โรงเรียนมีผลงานทางด้านการประกันคุณภาพการศึกษา
6. ช่วยให้นักเรียนมีประสบการณ์และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น